วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2556

วิถีชีวิตกับเศรษฐกิจพอเพียง



เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ..... ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 
 เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ 
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลง ทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสมดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียรมีสติปัญญาและความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี (ประมวลและกลั่นกรองจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ตามหนังสือที่ รล.0003/18888 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2542 สำนักราชเลขาธิการพระบรมมหาราชวัง กทม.) คนส่วนมากมักเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องของเกษตรกรในชนบทเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วเศรษฐกิจพอเพียงถือว่าเป็นปรัชญาหรือแนวทางการดำรงชีวิต ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้กับประชาชนในทุกระดับทั้งระดับบุคคล ระดับธุรกิจ และระดับประเทศ ปรัชญาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) นี้ประกอบด้วยหลักการสำคัญ 3 ประการได้แก่ 
1. หลักการพอประมาณ ซึ่งหมายถึงการดำเนินชีวิต ดำเนินธุรกิจ หรือบริหารประเทศอย่างสมดุลบนทางสายกลางไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง 
2. หลักการมีเหตุมีผล หมายถึง การนำความรู้ต่างๆ มาใช้ในการตัดสินใจอย่างมีสติอยู่บนพื้นฐานของการใช้เหตุผลไม่ใช้อารมณ์ 
3. หลักการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ซึ่งหมายถึงการวางแผนการดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างระมัดระวังและรอบคอบ รวมทั้งมีระบบภูมิคุ้มกันหรือระบบป้องกันความเสี่ยงที่ดี ที่สามารถช่วยรองรับผลกระทบจากความผันผวนต่าง ๆ 
                                            
นอกจากนั้น หลักการทั้ง 3 ด้านนี้ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของการมีคุณธรรม เช่น มีความซื่อสัตย์สุจริต ขยัน อดทนและรู้จักแบ่งปัน เพราะหากไม่มีคุณธรรมต่อให้ปรัชญาดีอย่างไร ก็สามารถนำไปใช้ในทางที่ผิดได้เสมอสำหรับการพิจารณาว่าจะนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั้ง 3 หลัก ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินชีวิตก็คือการใช้จ่ายอย่างพอประมาณไม่ฟุ่มเฟือย มีการแบ่งปันส่วนเกินเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อน มีการตัดสินใจดำรงชีวิตด้วยเหตุด้วยผล ต้องเข้าใจตนเองว่ามีข้อจำกัดอย่างไร เช่น มีรายได้เท่าไร ควรใช้จ่ายเท่าไรให้พอดีกับความสามารถในการหารายได้ของตัวเองและเตรียมความพร้อมสร้างระบบภูมิคุ้มกันตนเองด้วยการออมเงินให้เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหากทุกคนนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้ไปใช้จริงๆ พวกเราก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข เพียงพอกับความสามารถของตนเอง 
สามารถศึกษาวิถีชีวิตกับเศรษฐกิจพอเพียงของบุคคลที่เป็นตัวอย่างของชีวิตพอเพียงในอาชีพต่าง ๆ ที่เว็บไซต์ http://www.sufficiencyeconomy.org/life.php?ac=list&n_id=1 และอย่าลืมว่า"...ความสุขความเจริญอันแท้จริงนั้น หมายถึง ความสุข ความเจริญที่บุคคลแสวงหามาได้ด้วยความเป็นธรรมทั้งในเจตนาและการกระทำ ไม่ใช่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือด้วยการแก่งแย่งเบียดเบียนจากผู้อื่น..." 
คนไทยทุกคนโชคดีที่มีพระเจ้าแผ่นดิน ที่รักและห่วงใยประชาชนอย่างแท้จริง อย่าปล่อยให้ความโชคดีนั้นหลุดลอยไปโดยที่เราไม่ได้ยึด ไม่คว้า และไม่ปฏิบัติตาม 

3 ความคิดเห็น:

  1. ความพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร อยากให้ทุกคนตระหนัก

    ตอบลบ
  2. เรียงความตามรอยพ่อ อยู่อย่างพอเพียง

    ตอบลบ
  3. เรียงความตามรอยพ่อ อยู่อย่างพอเพียง

    ตอบลบ